ระบบบริหารจัดการเว็บไซต์ (CMS) ด้วย Ajax โดยคนไทย

ประวัติสถานีตำรวจภูธรบางปู

          เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๓ สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสมุทรปราการ ซึ่งมีพื้นที่รับผิดชอบจำนวนมากไม่สามารถบริการประชาชน ได้อย่างทั่วถึง  จึงได้กระจายจุดบริการประชาชนมาไว้ที่ตู้ยามตำหรุ  ซึ่งตั้งอยู่ที่บริเวณริมถนนสุขุมวิท กม.๔๐ หมู่ ๔ ต.บางปูใหม่  อ.เมือง  จ.สมุทรปราการ  มีพนักงานสอบสวน รับแจ้งเหตุ และตำรวจชั้นประทวน จำนวน ๑๕ นาย ประจำอยู่  ต่อมาพื้นที่ ต.บางปู ต.บางปูใหม่ ได้เจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว มีโรงงานอุตสาหกรรม เกิดขึ้นจำนวนมาก มีประชากรแฝง มาอาศัยอยู่ในพื้นที่มากขึ้น  พ.ต.ท.ประพันธ์  พานิคม  สวญ.สภ.อ.เมืองสมุทรปราการ(ในสมัยนั้น)  ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการบริการประชาชน  จึงได้ก่อตั้ง สถานีตำรวจภูธรย่อยบางปู ขึ้น โดยขอความร่วมมือจากภาคเอกชน  โดยนายเด่นตง  ตั้งเด่นชัย ได้บริจาคที่ดิน จำนวน ๓ ไร่ ๘๐ ตารางวา และก่อสร้างตัวอาคารที่ทำการสถานี  จำนวนเงิน ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท  ตั้งอยู่เลขที่ ๕๙๘ หมู่ ๒  ต.บางปูใหม่ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ  บริเวณ หลัก กม.37  ห่างจากถนนสุขุมวิทประมาณ ๗๐๐ เมตร  เปิดให้บริการกับประชาชน ตั้งแต่วันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๓๔  เป็นต้นมา โดยมี ระดับสารวัตรเป็นหัวหน้าสถานี  รับผิดชอบพื้นที่ประมาณ ๕๒ ตร.กม  มีพนักงานสอบสวน รับแจ้งเหตุ จัดการจราจร และแบ่งเขตตรวจ  โดยอยู่ในความปกครองของ สภ.อ.เมืองสมุทรปราการ
 
          ปี พ.ศ.๒๕๔๒  ตำรวจภูธรภาค ๑ ได้ให้สถานีตำรวจภูธรย่อยบางปู  เป็นสถานีตำรวจภูธรย่อยทดลอง ในรูปแบบ   ONE STOP SERVICE  โดยมี นายตำรวจชั้นสัญญาบัตรระดับ รองผู้กำกับการ เป็นหัวหน้าสถานี  เปิดบริการเป็นสถานีตำรวจเต็มรูปแบบ  ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม  ๒๕๕๐  ได้มีประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  เรื่องการจัดตั้งสถานีตำรวจภูธร ในเขตพื้นที่ตำรวจภูธรจังหวัดสมุทรปราการ  โดยให้ยกเลิกเขตอำนาจความรับผิดชอบ หรือเขตพื้นที่การปกครองของ สถานีตำรวจภูธรเมืองสมุทรปราการ เฉพาะ ๔  ตำบล ได้แก่  ตำบลบางปู  ตำบลบางปูใหม่  ตำบลแพรกษา(หมู่ ๔ และหมู่ ๖)  ตำบลแพรกษาใหม่ (หมู่ ๒,๓,๕,๖,๗)  และให้ตั้ง สถานีตำรวจภูธรบางปู เพิ่มขึ้น พื้นที่รับผิดชอบตามที่ยกเลิกจากความรับผิดชอบของ สถานีตำรวจภูธรเมืองสมุทรปราการ   โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๒๕ ตอนพิเศษ ๖ ง วันที่ ๙ กุมภาพันธ์  ๒๕๕๑  และมีผลบังคับเมื่อพ้นกำหนด ๓๐ วัน นับแต่วันประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป  โดยกำหนดตำแหน่งให้กับ สถานีตำรวจภูธรบางปู  จำนวน ๑๘๗   ตำแหน่ง มีระดับ ผู้กำกับการ  เป็นหัวหน้าสถานี พื้นที่รับผิดชอบประมาณ ๖๕  ตร.กม. ประชากรตามทะเบียนบ้าน ๕๑,๑๓๓ คน ประชากรแฝงประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ คน  
 
          ปี พ.ศ.๒๕๕๑  พล.ต.ต.วิทยา  ประยงค์พันธ์  ผบก.ภ.จว.สมุทรปราการ  ได้ทำเรื่องขอใช้ที่ดินราชพัสดุ บริเวณริมถนนสุขุมวิท กม.๔๑ หมู่ ๔ ตำบลบางปูใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ  เพื่อขอใช้ก่อสร้างที่ทำการของ สถานีตำรวจภูธรบางปู จาก นายอนุวัฒน์  เมธีวิบูลวุฒิ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ    และได้รับจัดสรรพื้นที่ จำนวน ๙ ไร่ เพื่อใช้ก่อสร้างตัวอาคาร สถานีตำรวจภูธรบางปู  และอาคารที่พักข้าราชการตำรวจ และครอบครัว  และวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน    พ.ศ.๒๕๕๐  ได้จัดทำพิธีวางศิลาฤกษ์ ณ.ที่บริเวณสถานที่ที่จะมีการก่อสร้าง อาคารสถานีตำรวจภูธรบางปู  โดย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์  เตมียาเวส  ผบ.ตร. ได้มาเป็นประธานในพิธี  และปี งบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๑  ได้รับจัดสรรงบประมาณจาก   สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำนวน ๒๓ ล้านบาท เพื่อทำการ ก่อสร้าง อาคารสถานีตำรวจภูธรบางปู  ตำรวจภูธรจังหวัดสมุทรปราการ อยู่ระหว่างดำเนินการ  จัดหาผู้ประมูลการก่อสร้าง ฯลฯ
 
          ข้อมูลทั่วไป
          สถานีตำรวจภูธรบางปู ตั้งอยู่เลขที่ ๕๙๘ หมู่ ๒ ตำบลบางปูใหม่ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ มีเขตพื้นที่รับผิดชอบ ๖๕ ตารางกิโลเมตร ๔ ตำบล ๒๑ หมู่บ้าน คือ
- ตำบลบางปูใหม่ หมู่ ๑-๑๐
- ตำบลบางปู หมู่ ๑-๔
- ตำบลแพรกษา หมู่ ๔,๖
- ตำบลแพรกษาใหม่ หมู่ ๒,๓,๕,๖,๗
 
          มีอาณาเขตติดต่อดังนี้
- ติดต่อเขตพื้นที่ สถานีตำรวจภูธรบางพลี ทิศเหนือ
- ติดต่อ ทะเลอ่าวไทย ทิศใต้
- ติดต่อเขตพื้นที่ สถานีตำรวจคลองด่าน ทิศตะวันออก
- ติดต่อพื้นที่ สถานีตำรวจภูธรเมืองสมุทรปราการ ทิศตะวันตก

          ประชากรตามทะเบียนบ้าน จำนวน ๕๑,๑๑๓ คน
- ตำบลบางปูใหม่ ประชากร ๓๕,๒๗๔ คน ประชากรแฝง ๑๕๐,๐๐๐ คน หมู่ที่ ๑-๑๐
- ตำบลบางปู ประชากร ๖,๙๐๑ คน ประชากรแฝง ๓,๐๐๐ คน หมู่ที่ ๑-๔
- ตำบลแพรกษา ประชากร ๑,๔๓๕ คน ประชากรแฝง ๓๘,๐๐๐ คน หมู่ที่ ๔,๖
- ตำบลแพรกษาใหม่ ประชากร ๗,๕๓๒ คน ประชากรแฝง ๒๕,๐๐๐ คน หมู่ที่ ๒,๓,๕,๖,๗ ประชากรแฝงประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ คน

          อาชีพ
ประชากรในส่วนของ ต.บางปู .ต.บางปูใหม่ ต.แพรกษา และ ต.แพรกษาใหม่ ซึ่งเป็นคนพื้นที่ มีอาชีพเกษตรกร ทำบ่อเลี้ยงปลาสลิด ส่วนประชากรแฝง ส่วนมากประกอบอาชีพ รับจ้าง เป็นคนงาน ตามโรงงานอุตสาหกรรม ในนิคมอุตสาหกรรม และกลุ่มโรงงานฟอกหนัง

          ศาสนา
ประชากรส่วนใหญ่ นับถือศาสนาพุทธ ไม่มี สุเหร่า

          สถานประกอบการ
ส่วนมากตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมบางปู และเขตประกอบการ อุตสาหกรรม ฟอกหนัง กม. ๓๔

          โรงงานอุตสาหกรรม แบ่งออกเป็น ๕ กลุ่ม
๑.กลุมผลิตชิ้นส่วนอีเลคโทรนิคส์
๒.กลุ่มผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ และรถจักรยานยนต์
๓.กลุ่มผลิตอาหารแช่แข็ง ส่งออกต่างประเทศ โรงงานปลากระป๋อง
๔.กลุ่มโรงงานประเภท เคมีภัณฑ์
๕.กลุ่มโรงงานฟอกหนัง

          ข้อมูลท้องถิ่น
 
 1.  พื้นที่รับผิดชอบ  ประมาณ  65  ตร.กม.
 2.  ประชากรตามทะเบียนบ้าน  51,133  คน
 3.  ประชากรแฝง  ประมาณ  200,000  คน
 4.  สถานที่ราชการ และรัฐวิสาหกิจ  12  แห่ง
 5.  สมาคมสโมสร  2  แห่ง
 6.  โรงพยาบาล  8  แห่ง
 7.  โรงเรียน  14  แห่ง
 8.  ธนาคาร  9  แห่ง
 9.  ร้านค้าทอง  13  แห่ง
 10.  สถานประกอบการศาสนา  ศาลเจ้าฯ  10  แห่ง
 11.  บ้านพักบุคคลสำคัญ  1  แห่ง
 12.  บริษัทโรงงานอุตสาหกรรม  442  แห่ง
 13.  โรงแรม  2  แห่ง
 14.  สถานบริการ  1  แห่ง
 15.  สถานีจำหน่ายน้ำมัน  5  แห่ง
 16.  อู่รถเมล์ สองแถว  6  แห่ง
 17.  อู่ซ่อมรถยนต์  37  แห่ง
 18.  หมู่บ้านจัดสรร  25  แห่ง
 19.  วินจักรยานยนต์รับจ้าง  71  แห่ง
 20.  ชุมชนแออัด  23  แห่ง
 21.  ตู้บริการเงินด่วน (เอทีเอ็ม)  108  แห่ง


 
^