10 ข้อควรรู้เกี่ยวกับยาเสพติด
10 ข้อควรรู้เกี่ยวกับยาเสพติด |
1. ยาเสพติดให้โทษ คือ อะไร | |
ยาเสพติดให้โทษ ตามความหมายของ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2552 หมายถึง สารเคมีหรือวัตถุชนิดใดๆ ซึ่งเมื่อเสพเข้าสู่ร่างกายไม่ว่าจะโดยรับประทาน ดม สูบ ฉีด หรือด้วยประการใดๆ แล้ว ทำให้เกิดผลต่อร่างกายและจิตใจในลักษณะสำคัญ เช่น ต้องเพิ่มขนาดการเสพเรื่อยๆ มีอาการถอนยาเมื่อขาดยา มีความต้องการเสพทั้งร่างกาย และจิตใจอย่างรุนแรงอยู่ตลอดเวลา และสุขภาพโดยทั่วไปจะทรุดโทรมลง จนถึงขั้นเสียชีวิต
|
2. การใช้ยาเสพติดมีอันตรายอย่างไร | |
การใช้ยาเสพติดมีอันตรายต่อสุขภาพ ดังต่อไปนี้ 1. ทำลายสุขภาพให้ทรุดโทรม น้ำหนักลด ผิวคล้ำ ร่างกายซูบผอม 2. เป็นบุคคลไร้สมรรถภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ อารมณ์ไม่ปกติ เฉี่อยชา เกียจคร้าน 3. เสียบุคลิกภาพ ขาดความสนใจในตัวเอง มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม 4. อาจประสบอุบัติเหตุได้ง่าย เพราะการควบคุมทางกล้ามเนื้อและระบบประสาทบกพร่อง 5. เกิดโรคแทรกซ้อนได้ง่าย เพราะความต้านทานโรคน้อย ติดเชื้อง่าย
|
3. จะสังเกตุอาการผู้ติดยาเสพติดได้อย่างไร | |
ยาเสพติดเมื่อเกิดการเสพติดแล้ว จะมีผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจ ซึ่งทำให้ลักษณะและความประพฤติของผู้เสพเปลี่ยนไปจากเดิมที่อาจสังเกตพบได้ คือ 1. ร่างกายทรุดโทรม ซูบผอม 2. อารมณ์ฉุนเฉียว หรือเงียบขรึมผิดปกติ จึงมักพบผู้เสพติดชอบทะเลาะวิวาทหรือทำร้ายผู้อื่นหรือในทางกลับกันบางคนอาจชอบแยกตัวอยู่คนเดียวและหนีออก จากพรรคพวกเพื่อนฝูง 3. ถ้าผู้เสพเป็นนักเรียน มักพบว่าผลการเรียนแย่ลง ถ้าเป็นคนทำงาน มักพบว่าประสิทธิภาพในการทำงานลดลงหรือไม่ยอมทำงานเลย 4. ใส่เสื้อแขนยาวตลอดเวลา เพื่อปกปิดรอยเข็มที่ฉีดยาตรงท้องแขนด้านใน หรือรอยกรีดตรงต้นแขนด้านใน 5. ติดต่อกับเพื่อนแปลกๆ ใหม่ๆ ซึ่งมีพฤติกรรมผิดปกติ 6. ขอเงินจากผู้ปกครองเพิ่ม หรือยืมเงินจากเพื่อนฝูงเสมอ เพื่อนำไปซื้อยาเสพติด 7. ขโมย ฉกชิง วิ่งราว เพื่อหาเงินไปซื้อยาเสพติด 8. ผู้ติดยาเสพติดบางชนิด เช่น เฮโรอีน จะมีอาการอยากยา บางคนจะมีอาการรุนแรงถึงขั้นลงแดง
|
4. จะสังเกตุอาการคนเมายาบ้าได้อย่างไร | |
ผู้ที่เสพยาบ้าเป็นประจำ จะส่งผลให้ผู้เสพมีระบบประสาทผิดปกติ เมื่อถึงจุดหนึ่งจะเกิดอาการหูแว่ว ประสาทหลอน หวาดระแวง จนเกิดความเครียด คิดว่าจะมีคนมาฆ่า หรือทำร้าย บางรายกลัวมากต้องหาอาวุธไว้ป้องกันตัว หรือคลุ้มคลั่งจับตัวประกัน ซึ่งอาจสังเกตอาการของคนเมายาบ้า ได้ดังนี้ 1. อยู่ไม่สุข ลุกลี้ลุกลน กระสับกระส่าย 2. หวาดกลัว และระแวงอยู่ตลอดเวลา 3. สีหน้าเลื่อนลอยเหมือนคนไม่ได้นอนหลับพักผ่อน 4. เนื้อตัวสกปรก มอมแมม
|
5.ถ้าบุตรหลานหรือบุคคลในครอบครัวของท่านติดยาเสพติดควรทำอย่างไร | |
โดยหลักการตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 แล้วผู้เสพยาเสพติดมีสภาพเป็นผู้ป่วยอย่างหนึ่งมิใช่อาชญากรปกติ การฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ติดยาเสพติดจึงสมควรกระทำให้กว้างขวาง ถ้าบุตรหลานหรือบุคคลในครอบครัวของท่านติดยาเสพติด ท่านสามารถช่วยเหลือบุคคลเหล่านั้นได้ก่อนถูกจับกุมดำเนินคดี โดยขอรับคำปรึกษาจากสถานที่ให้คำปรึกษา และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ได้แก่ โรงพยาบาลของรัฐ เช่น รพ.ธัญญารักษ์, รพ.พระมงกุฏเกล้า, รพ.ตำรวจ, รพ.จุฬาลงกรณ์, รพ.ราชวิถี, รพ.ตากสิน, รพ.ทหารผ่านศึก , รพ.นพรัตน์ราชธานี เป็นต้น โรงพยาบาลประจำจังหวัดทุกจังหวัด และศูนย์บำบัดรักษายาเสพติดต่างๆ ฯลฯ
|
6.หากผู้ปกครองปล่อยปละละเลยให้บุตรหลานเสพยาเสพติดให้โทษผู้ปกครองมีความผิดหรือไม่ | |
ผู้ปกครองมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดู อบรมสั่งสอน ดูแลเอาใจใส่เด็กในความปกครองให้ประพฤติตนให้เหมาะสม หากผู้ปกครองรายใดไม่ดูแลเอาใจใส่ เป็นเหตุให้เด็กประพฤติ ตนไม่สมควร มีความประพฤติเสี่ยงต่อการกระทำความผิด เช่น เสพยาเสพติดให้โทษ เป็นต้น ผู้ปกครองอาจจะมีความผิดถึงรับโทษจำคุกไม่เกิน 3เดือน หรือปรับไม่เกิน สามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม พ.ร.บ.ค้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 4,26,78 ประกอบกฎกระทรวงกำหนดเด็กที่เสี่ยงต่อการกระทำผิด พ.ศ.2549 ลงวันที่ 8 ส.ค.49 ผู้ปกครองจึงไม่ควรสนับสนุนหรือยินยอมให้บุตรหลานของท่านเที่ยวเตร่ในสถานที่ที่ไม่เหมาะสม เช่น สถานบริการกลางคืน สถานที่เสี่ยงภัยต่างๆ
|
7.ท่านหรือบุตรหลานของท่านไม่ยินยอมให้ตรวจปัสสาวะได้หรือไม่ และมีโทษหรือไม่ อย่างไร | |
บุคคลใดมีพฤติการณ์น่าสงสัยว่าเสพยาเสพติด เจ้าพนักงานมีอำนาจตรวจหรือทดสอบ หรือสั่งให้บุคคลใดรับการตรวจหรือทดสอบหาสารเสพติดจากปัสสาวะได้ตาม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ.2519 มาตรา 14 ทวิ ประกอบประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ลง 11 ก.ค.43 เรื่องกำหนด หลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการตรวจหรือทดสอบว่าบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดมีสารเสพติดอยู่ในร่างกายหรือไม่ บุคคลใดไม่ยินยอมให้ตรวจหรือทดสอบหาสารเสพติดจากปัสสาวะ ต้องรับโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปราม ยาเสพติด พ.ศ.2519 มาตรา 16 ดังนั้นจึงควรระมัดระวังมิให้บุตรหลานของท่านเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดตามสถานบริการต่างๆ โดยเด็ดขาด
|
8. สถานประกอบการประเภทใด ที่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด และต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างไร | |
มีสถานประกอบการ 6 ประเภท ที่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ.2519 มาตรา 13 ทวิ ประกอบ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี (พ.ศ.2543) ณ วันที่ 16 ส.ค.43 เรื่องกำหนดประเภทสถานประกอบการที่อยู่ภายใต้บังคับของมาตรการป้องกันและปราบปราม การกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในสถานประกอบการ ได้แก่ 1. ปั๊มน้ำมัน 2. ปั๊มก๊าซ 3. สถานบริการต่างๆ 4. ที่พักอาศัยในเชิงพาณิชย์ ประเภท หอพัก อาคารชุด หรือเกสเฮ้าส์ ที่ให้ผู้อื่นเช่า 5. โต๊ะบิลเลียต หรือสนุกเกอร์ ที่เก็บค่าบริการจากผู้เล่น 6. โรงงาน เจ้าของสถานประกอบการทั้ง 6 ประเภท มีหน้าที่ควบคุม สอดส่อง ดูแล ไม่ให้พนักงานหรือบุคคลภายนอกมามั่วสุมกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในหรือบริเวณสถาน ประกอบการ และต้องจัดให้มีป้ายหรือประกาศเตือนเกี่ยวกับพิษภัยของยาเสพติด หรืออัตราโทษตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปราม ยาเสพติด พ.ศ.2519 มาตรา 13 ทวิ ประกอบประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2543 ณ วันที่ 16 ส.ค.43 เรื่องกำหนดมาตรการ ป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในสถานประกอบการ หากปล่อยปละละเลย หรือละเว้นไม่ติดป้ายหรือประกาศเตือนดังกล่าว อาจถูกปรับเป็นเงินหนึ่งหมื่นบาท หรือสามหมื่นบาท หรือห้าหมื่นบาท แล้วแต่กรณี ตาม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบรามยาเสพติด พ.ศ.2519 มาตรา 13 ตรี ประกอบระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดว่าด้วยการตักเตือน การเปรียบเทียบปรับ และการปิดชั่วคราวสถานประกอบการหรือการพักใช้ใบอนุญาตประกอบการ พ.ศ.2545 ณ วันที่ 12 ธ.ค.45 ข้อ 17
|
9. หากพบการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในสถานประกอบการ เจ้าของสถานประกอบการมีความรับผิดตามกฎหมายยาเสพติดหรือไม่ อย่างไร | |
ถ้ามีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในสถานประกอบการทั้ง 6 ประเภท โดยเจ้าของสถานประกอบการไม่สามารถชี้แจงหรือพิสูจน์การใช้ความระมัดระวังได้ สถานประกอบการนั้นอาจถูกสั่งปิดชั่วคราวหรือพักใช้ใบอนุญาต มีกำหนด 7 วัน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ.2519 มาตรา 13 ตรี ประกอบระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดว่าด้วยการตักเตือนการเปรียบเทียบปรับ และการปิดชั่วคราวสถานประกอบการหรือการพักใช้ใบอนุญาต ประกอบการ พ.ศ.2545 ณ วันที่ 12 ธ.ค.45 ข้อ 18
|
10. ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหายาเสพติดได้อย่างไร | |
ถ้าท่านพบแหล่งจำหน่าย พักยา มั่วสุม หรือเสพยาเสพติด หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ท่านมีส่วนช่วยเหลือสังคมในการป้องกันและปราบปราม ยาเสพติดได้ โดยแจ้งให้หน่วยราชการต่อไปนี้ทราบ
|
1. | ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ |
1194 ตู้ ป.ณ.1234 รองเมือง กรุงเทพฯ 10330 |
2. | ศูนย์รับแจ้งเบาะแสยาเสพติด กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด |
1688 www.thaidrugpolice.com |
3. | ศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังปัญหายาเสพติด สำนักงาน ป.ป.ส. |
1386 ตู้ ป.ณ.123 สามเสนใน พญาไท กรุงเทพฯ 10400 |
4. | ศูนย์รับแจ้งเหตุ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ศูนย์ปฏิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติด กองบัญชาการตำรวจนครบาล |
191 0 2280 5835 ตู้ ป.ณ.191ปณจ.รองเมือง กรุงเทพฯ 10330 |
5. | รับแจ้งข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับยาเสพติด ตำรวจภูธรภาค 1 |
0 2936 2177(24 ชม.) 0 2537 8087 กด 0 |
6. | ศูนย์สืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 2 ศูนย์วิทยุบูรพาตำรวจภูธรภาค 2 ศูนย์ปฏิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติด ตำรวจภูธรภาค 2 |
038 276 724(24 ชม.) 038 273 525(24 ชม.) E-mail : drug@police.p2.go.th |
7. | ศูนย์ปฏิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติด ตำรวจภูธรภาค 3 |
044 242 140(24 ชม.) ตู้ ป.ณ.191 นครราชสีมา 30000 |
8. | ศูนย์ปฏิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติด ตำรวจภูธรภาค 4 |
043 236 895 043 331 056-7(24 ชม.) |
9. | ศูนย์สืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 2 | 053 140 012(24 ชม.) ตู้ ป.ณ.99 ปณจ.เชียงใหม่ |
10. | ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจภูธรภาค 6 | 055 368 143(24 ชม.) 055 368 113(24 ชม.) ตู้ ป.ณ.191 จว.พิษณุโลก |
11. | ตำรวจภูธรภาค 7 | 034 243 751-9(24 ชม.) E-mail : idpol7@Gmail.com E-mail : idpol7@hotmail.com |
12. | ศูนย์สืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 8 | 077 311 975(24 ชม.) ตู้ ป.ณ.44 อ.พุนพิน จว.สุราษฎร์ธานี 84130 |
13. | ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจภูธรภาค 9 | 074 312 424(24 ชม.) 074 312 021(24 ชม.) |
กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด
88 ม.3 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กทม. 10210 โทร. 02-5218012-8
88 ม.3 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กทม. 10210 โทร. 02-5218012-8