ระบบบริหารจัดการเว็บไซต์ (CMS) ด้วย Ajax โดยคนไทย

10 ข้อควรรู้เกี่ยวกับยาเสพติด

10 ข้อควรรู้เกี่ยวกับยาเสพติด
1. ยาเสพติดให้โทษ คือ อะไร  

ยาเสพติดให้โทษ ตามความหมายของ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2552 หมายถึง สารเคมีหรือวัตถุชนิดใดๆ ซึ่งเมื่อเสพเข้าสู่ร่างกายไม่ว่าจะโดยรับประทาน ดม สูบ ฉีด หรือด้วยประการใดๆ แล้ว ทำให้เกิดผลต่อร่างกายและจิตใจในลักษณะสำคัญ เช่น ต้องเพิ่มขนาดการเสพเรื่อยๆ มีอาการถอนยาเมื่อขาดยา มีความต้องการเสพทั้งร่างกาย และจิตใจอย่างรุนแรงอยู่ตลอดเวลา และสุขภาพโดยทั่วไปจะทรุดโทรมลง จนถึงขั้นเสียชีวิต

 

2. การใช้ยาเสพติดมีอันตรายอย่างไร  

การใช้ยาเสพติดมีอันตรายต่อสุขภาพ ดังต่อไปนี้
1. ทำลายสุขภาพให้ทรุดโทรม น้ำหนักลด ผิวคล้ำ ร่างกายซูบผอม
2. เป็นบุคคลไร้สมรรถภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ อารมณ์ไม่ปกติ เฉี่อยชา เกียจคร้าน
3. เสียบุคลิกภาพ ขาดความสนใจในตัวเอง มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
4. อาจประสบอุบัติเหตุได้ง่าย เพราะการควบคุมทางกล้ามเนื้อและระบบประสาทบกพร่อง
5. เกิดโรคแทรกซ้อนได้ง่าย เพราะความต้านทานโรคน้อย ติดเชื้อง่าย

 

3. จะสังเกตุอาการผู้ติดยาเสพติดได้อย่างไร  

ยาเสพติดเมื่อเกิดการเสพติดแล้ว จะมีผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจ ซึ่งทำให้ลักษณะและความประพฤติของผู้เสพเปลี่ยนไปจากเดิมที่อาจสังเกตพบได้ คือ
1. ร่างกายทรุดโทรม ซูบผอม
2. อารมณ์ฉุนเฉียว หรือเงียบขรึมผิดปกติ จึงมักพบผู้เสพติดชอบทะเลาะวิวาทหรือทำร้ายผู้อื่นหรือในทางกลับกันบางคนอาจชอบแยกตัวอยู่คนเดียวและหนีออก จากพรรคพวกเพื่อนฝูง
3. ถ้าผู้เสพเป็นนักเรียน มักพบว่าผลการเรียนแย่ลง ถ้าเป็นคนทำงาน มักพบว่าประสิทธิภาพในการทำงานลดลงหรือไม่ยอมทำงานเลย
4. ใส่เสื้อแขนยาวตลอดเวลา เพื่อปกปิดรอยเข็มที่ฉีดยาตรงท้องแขนด้านใน หรือรอยกรีดตรงต้นแขนด้านใน
5. ติดต่อกับเพื่อนแปลกๆ ใหม่ๆ ซึ่งมีพฤติกรรมผิดปกติ
6. ขอเงินจากผู้ปกครองเพิ่ม หรือยืมเงินจากเพื่อนฝูงเสมอ เพื่อนำไปซื้อยาเสพติด
7. ขโมย ฉกชิง วิ่งราว เพื่อหาเงินไปซื้อยาเสพติด
8. ผู้ติดยาเสพติดบางชนิด เช่น เฮโรอีน จะมีอาการอยากยา บางคนจะมีอาการรุนแรงถึงขั้นลงแดง

 

4. จะสังเกตุอาการคนเมายาบ้าได้อย่างไร  

ผู้ที่เสพยาบ้าเป็นประจำ จะส่งผลให้ผู้เสพมีระบบประสาทผิดปกติ เมื่อถึงจุดหนึ่งจะเกิดอาการหูแว่ว ประสาทหลอน หวาดระแวง จนเกิดความเครียด คิดว่าจะมีคนมาฆ่า หรือทำร้าย บางรายกลัวมากต้องหาอาวุธไว้ป้องกันตัว หรือคลุ้มคลั่งจับตัวประกัน ซึ่งอาจสังเกตอาการของคนเมายาบ้า ได้ดังนี้
1. อยู่ไม่สุข ลุกลี้ลุกลน กระสับกระส่าย
2. หวาดกลัว และระแวงอยู่ตลอดเวลา
3. สีหน้าเลื่อนลอยเหมือนคนไม่ได้นอนหลับพักผ่อน
4. เนื้อตัวสกปรก มอมแมม

 

5.ถ้าบุตรหลานหรือบุคคลในครอบครัวของท่านติดยาเสพติดควรทำอย่างไร  

โดยหลักการตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 แล้วผู้เสพยาเสพติดมีสภาพเป็นผู้ป่วยอย่างหนึ่งมิใช่อาชญากรปกติ การฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ติดยาเสพติดจึงสมควรกระทำให้กว้างขวาง

ถ้าบุตรหลานหรือบุคคลในครอบครัวของท่านติดยาเสพติด ท่านสามารถช่วยเหลือบุคคลเหล่านั้นได้ก่อนถูกจับกุมดำเนินคดี โดยขอรับคำปรึกษาจากสถานที่ให้คำปรึกษา และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ได้แก่ โรงพยาบาลของรัฐ เช่น รพ.ธัญญารักษ์, รพ.พระมงกุฏเกล้า, รพ.ตำรวจ, รพ.จุฬาลงกรณ์, รพ.ราชวิถี, รพ.ตากสิน, รพ.ทหารผ่านศึก , รพ.นพรัตน์ราชธานี เป็นต้น โรงพยาบาลประจำจังหวัดทุกจังหวัด และศูนย์บำบัดรักษายาเสพติดต่างๆ ฯลฯ

 

6.หากผู้ปกครองปล่อยปละละเลยให้บุตรหลานเสพยาเสพติดให้โทษผู้ปกครองมีความผิดหรือไม่  

ผู้ปกครองมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดู อบรมสั่งสอน ดูแลเอาใจใส่เด็กในความปกครองให้ประพฤติตนให้เหมาะสม หากผู้ปกครองรายใดไม่ดูแลเอาใจใส่ เป็นเหตุให้เด็กประพฤติ ตนไม่สมควร มีความประพฤติเสี่ยงต่อการกระทำความผิด เช่น เสพยาเสพติดให้โทษ เป็นต้น ผู้ปกครองอาจจะมีความผิดถึงรับโทษจำคุกไม่เกิน 3เดือน หรือปรับไม่เกิน สามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม พ.ร.บ.ค้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 4,26,78 ประกอบกฎกระทรวงกำหนดเด็กที่เสี่ยงต่อการกระทำผิด พ.ศ.2549 ลงวันที่ 8 ส.ค.49

ผู้ปกครองจึงไม่ควรสนับสนุนหรือยินยอมให้บุตรหลานของท่านเที่ยวเตร่ในสถานที่ที่ไม่เหมาะสม เช่น สถานบริการกลางคืน สถานที่เสี่ยงภัยต่างๆ

 

7.ท่านหรือบุตรหลานของท่านไม่ยินยอมให้ตรวจปัสสาวะได้หรือไม่ และมีโทษหรือไม่ อย่างไร  

บุคคลใดมีพฤติการณ์น่าสงสัยว่าเสพยาเสพติด เจ้าพนักงานมีอำนาจตรวจหรือทดสอบ หรือสั่งให้บุคคลใดรับการตรวจหรือทดสอบหาสารเสพติดจากปัสสาวะได้ตาม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ.2519 มาตรา 14 ทวิ ประกอบประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ลง 11 ก.ค.43 เรื่องกำหนด หลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการตรวจหรือทดสอบว่าบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดมีสารเสพติดอยู่ในร่างกายหรือไม่

บุคคลใดไม่ยินยอมให้ตรวจหรือทดสอบหาสารเสพติดจากปัสสาวะ ต้องรับโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปราม ยาเสพติด พ.ศ.2519 มาตรา 16

ดังนั้นจึงควรระมัดระวังมิให้บุตรหลานของท่านเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดตามสถานบริการต่างๆ โดยเด็ดขาด

 

8. สถานประกอบการประเภทใด ที่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด และต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างไร  

มีสถานประกอบการ 6 ประเภท ที่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ.2519 มาตรา 13 ทวิ ประกอบ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี (พ.ศ.2543) ณ วันที่ 16 ส.ค.43 เรื่องกำหนดประเภทสถานประกอบการที่อยู่ภายใต้บังคับของมาตรการป้องกันและปราบปราม การกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในสถานประกอบการ ได้แก่

1. ปั๊มน้ำมัน
2. ปั๊มก๊าซ
3. สถานบริการต่างๆ
4. ที่พักอาศัยในเชิงพาณิชย์ ประเภท หอพัก อาคารชุด หรือเกสเฮ้าส์ ที่ให้ผู้อื่นเช่า
5. โต๊ะบิลเลียต หรือสนุกเกอร์ ที่เก็บค่าบริการจากผู้เล่น
6. โรงงาน

เจ้าของสถานประกอบการทั้ง 6 ประเภท มีหน้าที่ควบคุม สอดส่อง ดูแล ไม่ให้พนักงานหรือบุคคลภายนอกมามั่วสุมกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในหรือบริเวณสถาน ประกอบการ และต้องจัดให้มีป้ายหรือประกาศเตือนเกี่ยวกับพิษภัยของยาเสพติด หรืออัตราโทษตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปราม ยาเสพติด พ.ศ.2519 มาตรา 13 ทวิ ประกอบประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2543 ณ วันที่ 16 ส.ค.43 เรื่องกำหนดมาตรการ ป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในสถานประกอบการ

หากปล่อยปละละเลย หรือละเว้นไม่ติดป้ายหรือประกาศเตือนดังกล่าว อาจถูกปรับเป็นเงินหนึ่งหมื่นบาท หรือสามหมื่นบาท หรือห้าหมื่นบาท แล้วแต่กรณี ตาม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบรามยาเสพติด พ.ศ.2519 มาตรา 13 ตรี ประกอบระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดว่าด้วยการตักเตือน การเปรียบเทียบปรับ และการปิดชั่วคราวสถานประกอบการหรือการพักใช้ใบอนุญาตประกอบการ พ.ศ.2545 ณ วันที่ 12 ธ.ค.45 ข้อ 17

 

9. หากพบการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในสถานประกอบการ เจ้าของสถานประกอบการมีความรับผิดตามกฎหมายยาเสพติดหรือไม่ อย่างไร  

ถ้ามีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในสถานประกอบการทั้ง 6 ประเภท โดยเจ้าของสถานประกอบการไม่สามารถชี้แจงหรือพิสูจน์การใช้ความระมัดระวังได้ สถานประกอบการนั้นอาจถูกสั่งปิดชั่วคราวหรือพักใช้ใบอนุญาต มีกำหนด 7 วัน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ.2519 มาตรา 13 ตรี ประกอบระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดว่าด้วยการตักเตือนการเปรียบเทียบปรับ และการปิดชั่วคราวสถานประกอบการหรือการพักใช้ใบอนุญาต ประกอบการ พ.ศ.2545 ณ วันที่ 12 ธ.ค.45 ข้อ 18

 

10. ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหายาเสพติดได้อย่างไร  

ถ้าท่านพบแหล่งจำหน่าย พักยา มั่วสุม หรือเสพยาเสพติด หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ท่านมีส่วนช่วยเหลือสังคมในการป้องกันและปราบปราม ยาเสพติดได้ โดยแจ้งให้หน่วยราชการต่อไปนี้ทราบ

 

1. ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
1194
ตู้ ป.ณ.1234 รองเมือง กรุงเทพฯ 10330
2. ศูนย์รับแจ้งเบาะแสยาเสพติด
กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด
1688
www.thaidrugpolice.com
3. ศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังปัญหายาเสพติด
สำนักงาน ป.ป.ส.
1386
ตู้ ป.ณ.123 สามเสนใน พญาไท กรุงเทพฯ 10400
4. ศูนย์รับแจ้งเหตุ กองบัญชาการตำรวจนครบาล
ศูนย์ปฏิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติด
กองบัญชาการตำรวจนครบาล
191
0 2280 5835
ตู้ ป.ณ.191ปณจ.รองเมือง กรุงเทพฯ 10330
5. รับแจ้งข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับยาเสพติด
ตำรวจภูธรภาค 1
0 2936 2177(24 ชม.)
0 2537 8087 กด 0
6. ศูนย์สืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 2
ศูนย์วิทยุบูรพาตำรวจภูธรภาค 2
ศูนย์ปฏิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติด
ตำรวจภูธรภาค 2
038 276 724(24 ชม.)
038 273 525(24 ชม.)
E-mail : drug@police.p2.go.th
7. ศูนย์ปฏิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติด
ตำรวจภูธรภาค 3
044 242 140(24 ชม.)
ตู้ ป.ณ.191 นครราชสีมา 30000
8. ศูนย์ปฏิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติด
ตำรวจภูธรภาค 4
043 236 895
043 331 056-7(24 ชม.)
9. ศูนย์สืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 2 053 140 012(24 ชม.)
ตู้ ป.ณ.99 ปณจ.เชียงใหม่
10. ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจภูธรภาค 6 055 368 143(24 ชม.)
055 368 113(24 ชม.)
ตู้ ป.ณ.191 จว.พิษณุโลก
11. ตำรวจภูธรภาค 7 034 243 751-9(24 ชม.)
E-mail : idpol7@Gmail.com
E-mail : idpol7@hotmail.com
12. ศูนย์สืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 8 077 311 975(24 ชม.)
ตู้ ป.ณ.44 อ.พุนพิน จว.สุราษฎร์ธานี 84130
13. ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจภูธรภาค 9 074 312 424(24 ชม.)
074 312 021(24 ชม.)

 
กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด
88 ม.3 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กทม. 10210 โทร. 02-5218012-8

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

^